ประวัติสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย

โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสพ  รัตนากร
 
การศึกษาด้านประสาทวิทยา เริ่มมาตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 50 ปีก่อน โดย ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ได้นำความรู้เรื่องประสาทกายวิภาคศาสตร์มาบรรยาย ทำให้เกิดความสนใจในการทำงานของสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย  โดยประสานกับ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ซึ่งบรรยายเรื่องประสาทสรีรวิทยา เป็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับกลไกของระบบประสาทกับอวัยวะภายในร่างกายและด้านอารมณ์  เช่น การทดลองของ ดร.เฮส จากมหาวิทยาลัยซูริค และการทดลองของพาฟลอบ จากรัสเซีย    ส่วนในทางด้านคลีนิคมี ศ.นพ.จิตต์ ตู้จินดา เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับโรคของสมอง และระบบประสาท   ต่อมาทางศัลยกรรมได้ศึกษาเกี่ยวกับเนื้องอกของสมองจนได้มีการผ่าตัดสมองโดย นพ.บรรจง กรลักษณ์
 
เมื่อได้มีการจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ขึ้น จึงได้เริ่มงานทางด้านประสาทกายวิภาคศาสตร์ และการสอนทางประสาทวิทยา โดย ศ.นพ.บุญเลี้ยง ตามไท กับคณะ
 
ใน พ.ศ.2493 ศ.นพ.ประสพ รัตนากร ได้ศึกษาเรื่องคนไข้ซิฟิลิสสมอง ซึ่งมีอาการทางระบบประสาท และอาการทางจิตใจ   พร้อมทั้งรวบรวมรายงานคนไข้ที่ได้รับการรักษาโดยวิธีของ ศ.วากเนอร์ ยาวเรก  ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในการใช้ไข้มาเลเรีย รักษาซิฟิลิส    ในช่วงนี้เองได้มีการจัดกลุ่มและจับกลุ่มผู้สนใจทางด้านประสาทวิทยาขึ้น  โดยมีการประชุมและบรรยายที่ศาลาแสงจันทร์ ตึกพวงทอง โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  โดยมีเพื่อนแพทย์ทางสมเด็จเจ้าพระยา, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาร่วมศึกษาคนไข้ทุกวันเสาร์ จนเป็นชมรมประสาทแพทย์ขึ้น
 
ใน พ.ศ.2499 ศ.นพ.ประสพ  รัตนากร ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลประสาท พญาไท เพื่อเป็นโรงพยาบาลทางระบบประสาท หรือประสาทวิทยาโดยเฉพาะ  จึงมีการร่วมใจกันในการช่วยงานทั้งด้านคลีนิคและด้านวิชาการ จนเป็นศูนย์รวมของคณะผู้ทำงานด้านประสาทวิทยา และศัลยกรรมประสาท  ซึ่งก่อนหน้านั้น ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ กลับจากเวียนนา  และ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา กลับจากสหรัฐอเมริกา ได้เป็นกำลังสำคัญทางด้านศัลยกรรมประสาท  พร้อมกันนั้น ทางโรงพยาบาลประสาท พญาไท ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทุนจัดสร้างตึกวิจัยประสาทขึ้น  เพื่อศึกษาในทางประสาทวิทยาศาสตร์โดยกว้างขวาง  รวมไปถึงประสาทพยาธิวิทยา  ประสาทชีวเคมี  ประสาทสรีรวิทยาและการติดเชื้อของระบบประสาท

พ.ศ.2503  ฝ่ายแพทย์ทางประสาทวิทยา จึงได้จัดตั้งสมาคม  ซึ่งในตอนแรกเรียกว่า “สมาคมประสาทแพทย์แห่งประเทศไทย”  โดยมีผู้เริ่มการคือ ศ.นพ.จิตต์ ตู้จินดา  ศ.นพ.บุญเลี้ยง ตามไท  ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เป็นกรรมการผู้ก่อตั้ง  โดย ศ.นพ.ประสพ รัตนากร แพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาท พญาไท ขณะนั้น  เป็นผู้ขออนุญาตและได้รับอนุญาตเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2503  มีสำนักงาน ณ โรงพยาบาลประสาท พญาไท  และกรรมการผู้เริ่มงานก็มี ศ.นพ.สมบัติ สุคนธพันธ์, ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา, ศ.นพ.วิชัย บำรุงผล, ศ.นพ.ทองจันทร์ หงส์ลดารมย์, ศ.นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี, นพ.หทัย ชิตานนท์ เป็นต้น  โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. บำรุงและส่งเสริมการแพทย์ทางโรคประสาทในประเทศไทย  ตลอดจนการศึกษาป้องกัน การวิจัย และรักษาโรคประสาท ให้ก้าวหน้าไปตามหลักวิทยาการการแพทย์
2. เผยแพร่ และโฆษณาความรู้ในวิชาการแพทย์ทางโรคประสาท และการป้องกันตนเองจากโรคนี้แก่ประชาชน
3. ร่วมมือโดยใกล้ชิดกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย  และสมาคมสาขาการแพทย์อื่นๆ แห่งประเทศไทย
4. ให้การอบรมศึกษาแก่แพทย์ที่สนใจทางโรคประสาท
5. ร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมแพทย์โรคประสาทในต่างประเทศ  และหน่วยงานองค์การอนามัยของนานาชาติทางด้านโรคประสาท
6. ไม่เกี่ยวกับการเมือง
 
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้มีการประสานงานระหว่างประเทศ โดยในขั้นต้นมี ศ.นพ.เกรม โรเบิตสัน จากออสเตรเลีย มาให้คำแนะนำทางด้านประสาทรังสีวิทยา และ เซอร์ริชาด ฮิล ช่วยทางประสาทศัลยกรรม   จากนั้นได้ติดต่อกับสถาบันประสาทวิทยาของอังกฤษที่ควีนสแควร์  และบริติส เคาซิล ได้ให้ ศ.ดักกลาส แม๊คอัลไพน์ มาสำรวจข้อมูล และได้แนะนำให้แพทย์ไทยที่มีความตั้งใจศึกษาเพิ่มเติม ได้มีโอกาสนำความรู้มาเผยแพร่ต่อไป คือ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางด้านประสาทวิทยา  และ รศ.นพ.ธนิต เธียรธนู ทางด้านประสาทศัลยศาสตร์   โดยพร้อมกันนั้นก็มี นพ.วุฒิกิจ ธนะภูมิ ไปศึกษาทางด้านผ่าตัดสมองที่สหรัฐอเมริกา  พร้อมกับด้านประสาทวิทยาคลีนิคโดย พญ.นันทนิตย์ จิตต์สุคนธ์    ทางอังกฤษ  พญ.อร่ามศรี วสุวัต ศึกษาทางด้านประสาทจักษุวิทยา   พญ.รัตนาวลี กะลัมพะเหติ ทางด้านประสาทพยาธิวิทยา กับ นพ.ธรรมนูญ กะลัมพะเหติ ทางด้านประสาทรังสีวิทยา เป็นต้น   ส่วนแพทย์ต่างประเทศที่มาให้ความร่วมมือ พอสรุปที่เกี่ยวข้องกับสมาคมได้ดังนี้
1. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก ประสานงานจากกรุงบอนนน์ โดย ดร.ปิเตอร์ เคสเลอร์ และ ดร.ฮอลแมนน์ จากฮัมบูรก์ ทางด้านประสาทชีวเคมี ร่วมกับสถาบัน แมกส์ พลังก์
2. แคนาดา โดย ดร.เฮนรี่ ริชาร์ด และ ดร.จอน ปริชาร์ด  ให้ทางมหาวิทยาลัยโตรอนโต สนับสนุนการให้ทุนการศึกษา และเปิดอบรมแพทย์ทางประสาทวิทยาขึ้น
3. ออสเตรีย  ร่วมกับ ดร.ไซเตลเบอร์เกอร์ สถาบันประสาทวิทยาของเวียนนา  กับ ดร.อานส์ ฮอฟ ทางภยันตรายสมอง
4. นอร์เวย์  มีการเริ่มงานตอน ดร.มอนราค โครน บรรยายพิเศษ และร่วมกับ ดร.เรฟซัม ให้ทุนแพทย์ พยาบาล ไปศึกษา
5. สหรัฐอเมริกา ร่วมกับสถาบันการศึกษาขั้นบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย  โดยมีแพทย์ไปรับการอบรม กับ ดร.แยสกิน และ ดร.บูซี่ ที่ชิคาโก

เกี่ยวกับการประชุมระหว่างประเทศ  สมาชิกของสมาคมได้เริ่มเข้าวงการระหว่างประเทศ ในการประชุมคองเกรส  เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1960 ที่โรม   ค.ศ.1964 ที่เวียนนา และต่อมาที่ฮัมบูร์ก และกรุงวอชิงตัน  ซึ่ง ดร.วอคเกอร์ นายกสมาคมประสาทวิทยาและศัลยกรรมประสาท ได้กล่าวถึงสถาบันประสาทวิทยา ที่มีชื่อเสียงของโลก 7 แห่ง คือ ที่อังกฤษ แคนาดา เบลเยี่ยม เวียนนา สหรัฐอเมริกา 2 แห่ง และที่กรุงเทพ  ช่วงนี้เอง ได้มีการค้นพบโรคใหม่ๆ เช่น Tuberous sclerosis, multiple sclerosis, cysticercosis พยาธิสมอง, และโรคต่างๆ ทางประสาทวิทยาเขตร้อน

ทางมูลนิธิวิจัยประสาท ในพระบรมราชูปถัมภ์  ก็ให้ความร่วมมือในการให้ทุนวิจัย การจัดประชุมระหว่างประเทศ การฝึกอบรมวิชาการ  โดยประสานงานกับ IBRO, WHO  จนระยะหลังในปี ค.ศ.1994 นี้เองได้ร่วมรณรงค์ Decade of the Brain ด้วยการจัดอบรมแพทย์นานาชาติขึ้น ร่วมกับ IMPO และสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ที่โรงพยาบาล และสถาบันประสาทวิทยา  ในหัวข้อเรื่อง “การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง”  อีกด้านหนึ่งคือ ทางมูลนิธิได้สนับสนุนจัดทำวารสารประสาทวิทยาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2507

ในด้านองค์กรสหพันธ์ประสาทวิทยาโลก  ดร.แวน โบเกิร์ต ผู้ก่อตั้ง  และ ดร.เพียส ไบลีย์ เลขาธิการ ได้ประสานงานให้การสนับสนุนเป็นอันดี จนเป็นสมาชิกของสหพันธ์มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1961  จากนั้นสมาชิกของสมาคมได้ไปร่วมประชุมคองเกรสเป็นประจำ และจัดการประชุมภาคเอเซีย และโอเซียเนียขึ้นในกรุงเทพ อีกด้วย

ในระยะหลังนี้ ได้มีการขยายงาน และริเริ่มงานประสาทวิทยา ขึ้น  ในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย  ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขของเหล่าทัพ และในภาคเอกชน   นับเป็นความภาคภูมิใจที่สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ที่มีอายุมา 35 ปี  มีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเห็นได้จากการบรรยายประจำปีของมูลนิธิศาสตราจารย์ประสพ  รัตนากร ในปี พ.ศ.2536 เรื่อง “ทศวรรษแห่งสมอง” โดย ศ.นพ.จรัส  สุวรรณเวลา  และในปี พ.ศ.2537 เรื่อง “ประสาทวิทยากับสังคมในทศวรรษหน้า” โดย ศ.นพ.อรรถสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้นำเกี่ยวกับเรื่องระบบประสาท และสมองของไทย และนานาประเทศ  โดยมีการร่วมมือเป็นอันดีจากหน่วยภาควิชาและสถาบันวิชาการ ในด้านประสาทวิทยาศาสตร์ขึ้นอีก ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ  รวมทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับทางด้านประสาทวิทยา  เช่น ทางกายภาพบำบัด ทางประสาทคอมพิวเตอร์  เหล่านี้เป็นวิวัฒนาการที่มีพื้นฐานมาอย่างดีและมีอนาคตที่ดี  จากการที่สมาชิกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับทางประสาทศัลยศาสตร์ ได้เสียสละมีความมานะพากเพียรในการดำเนินการมาด้วยดี จึงหวังได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นเตือนให้ “ประสาทวิทยาก้าวหน้าทันโลก” และช่วยชีวิตของชาวโลก  รวมทั้งการพัฒนาสมองเพื่อการพัฒนาสังคมโลก ชั่วกาลนาน
 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “ตึกวิจัยประสาท” อาคารพระราชทานที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท เป็นการเริ่มศักราชของการวิจัยทางประสาทวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ร่วมกับนานาประเทศ
 
 
พระบำราศนราดูรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้อนรับ ศ.ดร.ดักกลาส แมคอัลไพน์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันประสาทวิทยา ควีนสแควร์ ของอังกฤษอันเป็นอันหนึ่งของโลกมาว่างแผนการอบรมแพทย์ของโรงพยาบาลประสาทพญาไท ซึ่ง ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เป็นผู้ก่อตั้ง และวางแผนสนับสนุนบุคลากร ด้านประสาทวิทยาของไทย 
 
 
 
นพ. สงัด เปล่งพานิช ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรการอบรมแพทย์ทางประสาทวิทยาร่วมกับนายกสมาคม ส.นพ.จิตต์  ตู้จินดา 
 
 
การอบรมแพทย์ทางประสาทวิทยารุ่นแรก ๆ มี ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ  ศ.นพ.จิตต์ ตู้จินดา ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ. ประสพ รัตนากร ร่วมบรรยายวิชาการ
 
 
การประชุมวิชาการของสมาคมร่วมกัน ระหว่างโรงแรม และภาควิชาประสาทวิทยา และประสาทศัลยศาสตร์ โดย ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ นายกสมาคมเป็นประธาน